ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์....รำภูไท

ตำนานของชาวภูไทและชนเผ่าภูไทแห่งแคว้นสิบสองจุไท

ตำนานคนเผ่าภูไท

ในบทนี้ขอแทรกเกี่ยวกับตำนานของคนเผ่าภูไทไว้อีกบทหนึ่ง เพื่อให้เห็นถึงต้นกำเกิดของคนเผ่าภูไทก่อนที่จะมาอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทหรือสิบสองเจ้าไท อันเป็นที่ยอมรับของคนภูไทและคนเผ่าลาวว่ากำเนิดจากถิ่นที่เป็นเมืองแถน โดยมีพญาแถนเป็นต้นตระกูล
คนเผ่าภูไทก็เป็นเช่นคนเผ่าเล็กๆอื่นที่ได้ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางชนเผ่าหลายชนเผ่า ซึ่งมีชนชาติต่างๆในบริเวณในบริเวณใกล้เคียงกับแคว้นสิบสองจุไทอันเป็นต้นกำเนิดของชาวภูไท ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว เพื่อเป็นการขยายมิติให้เห็นชนเผ่าแวดล้อมของชนเผ่าภูไทให้มากขึ้น และเป็นการนำทางเพื่อให้มีการศึกษาค้นคว้าในเรื่องแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของคนเผ่าภูไทให้ลึกซึ้งและครอบคลุมยิ่งขึ้นในอนาคต สำหรับผู้ที่สนใจการศึกษาเรื่องคนเผ่าภูไทในอดีต จึงได้เพิ่มบทแทรกนี้เข้ามา
ในบทแทรกเรื่องตำนานคนภูไทนี้ ขอยึดข้อเขียนของ “เฉลิมชัย แก้วมณีชัย” ซึ่งได้รวบรวมไว้ในชื่อ “พงศาวดารชาติภูไท หรือ ผู้ไทย” เป็นหลักใหญ่ในการเรียบเรียง แต่ก็ได้เพิ่มเติมและสอดแทรกข้อสังเกตเอาไว้เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้
การกำเนิดของชนชาติภูไทหรือผู้ไท เกี่ยวพันกับการกำเนิดของชนเผ่าในถิ่นแถบเอเชียตะวันออก ประกอบไปด้วย จีน มองโกเลีย ทิเบต และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประกอบไปด้วย ไทย ลาว พม่า เวียดนาม เขมร รวมทั้งชนเผ่าเล็กๆ เช่น ภูไท ญ้อ ข่า โซ่ กะเลิง เป็นต้น โดยนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์เห็นว่า ในโลกนี้(ในดินแดนถิ่นนี้)มนุษย์ได้เกิดขึ้นเป็นเวลาประมาณแสนปีมาแล้ว และมีการคาดคะเนว่าดินแดนของมนุษย์ดั้งเดิมนั้นอยู่ใจกลางชมพูทวีป บริเวณเทือกเขาอันไต ซึ่งเป็นดินแดนภาคใต้ของประเทศมองโกเลียในปัจจุบัน
โดยมนุษย์ที่เกิดจากใจกลางชมพูทวีปนี้ มีอยู่หลายชนชาติด้วยกัน แต่ชนชาติใหญ่ๆที่ตั้งหลักฐานอยู่หากแบ่งตามการทำมาหากินแล้ว แบ่งออกได้เป็น ๔ ชนชาติ ได้แก่ ชนชาติจีน ชนชาติตาด ชนชาติชะนงยู้ และชนชาติอ้ายลาว
๑. ชนชาติจีน จะอาศัยอยู่ในดินแดนรอบๆทะเลสาบแคสเปียน ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ วิธีหากินนั้น จะหากินด้วยการเลี้ยงสัตว์
๒. ชนชาติตาด ชนชาตินี้อาศัยอยู่ในดินแดนตามเลียบทะเลทราย โดยการใช้ม้าเป็นพาหนะ และหากินด้วยการปล้นชิงเป็นหลัก
๓. ชนชาติชะนงยู้ ชนชาตินี้อาศัยอยู่ในดินแดนประเทศกเว (เกาหลี) ตลอดถึงมองโกล หากินด้วยการปล้นชิงเป็นหลักเช่นเดียวกับชนชาติตาด
๔. ชนชาติอ้ายลาว เป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ในดินแดนระหว่างแม่น้ำฮวงโห กับแม่น้ำยั้งจี้ (แยงชีเกียง) หากินด้วยการกสิกรรมเป็นหลัก
ในส่วนของชนเผ่าภูไทนั้น เป็นชนเผ่าหนึ่งที่ตั้งหลักฐานบ้านเรือนปะปนอยู่กับกลุ่มคนชนชาติต่างๆ ในอดีต คือ จีน ลาว พวน ไทย ญ้อ เป็นต้น โดยคนเผ่าภูไทมีนิสัยส่วนตัวที่รักความสงบ อยู่กันอย่างสันติ มีความรักหวงแหนในเผ่าพันธุ์ ในขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การแต่งกาย ดนตรี ความเชื่อของตัวเอง และพูดภาษาภูไทอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน
การที่คนภูไทอยู่รวมกับเผ่าชนอื่น จึงทำให้มีการหลอมรวมขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เช่น ประเพณีเกี่ยวกับการเคารพบรรพบุรุษของคนเผ่าภูไทก็คล้ายกับของคนจีนที่เคารพวิญญาณบรรพบุรุษเหมือนกัน
คำว่าภูไท ผู้ไท หรือคนไต มีนักปราชญ์หลายท่านได้ให้ความเห็นว่า มีความหมายเดียวกับคำว่า เทียน แถน ไท้ อันหมายถึง ฟ้า หรือดวงดาว ซึ่งคนภูไทเป็นเผ่าที่รักอิสระ ชอบอยู่ตามที่สูง หรือภูเขา คนเผ่าภูไทได้ตั้งหลักฐานบ้านเรือนอยู่ในดินแดนอ้ายลาว รวมกลุ่มอยู่กับชนชาติต่างๆ อยู่ในประเทศจีนหรือมณฑลเสฉวน มีเมืองใหญ่ ๓ เมือง อันได้แก่
๑. เมืองลุง (นครลุง) อยู่ตอนต้นของแม่น้ำฮวงโหด้านเหนือ
๒. เมืองปา (นครปา) อยู่ตอนใต้แม่น้ำฮวงโห เหนือเมืองเสฉวน เป็นเมืองใหญ่และมีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต
๓. เมืองเงี้ยว(นครเงี้ยว) อยู่ทางใต้ของเมืองลุงและเมืองปา
ในพงศาวดารจีนได้บันทึกไว้ว่า เมื่อประมาณก่อน ค.ศ.๘๔๓ ชนชาติตาด ได้เข้ามารบกับชาติจีน แล้วยกกองทัพล่วงเข้ามารบชนชาติอ้ายลาวที่เมืองลุง ชนชาติอ้ายลาวที่รักสันติ รักความสงบ จึงอพยพหนีลงมาอยู่ที่เมืองปา จากนั้น ต่อมาอีกประมาณ ๗๐ ปี เมื่อชาติจีนมีกำลังคนมากขึ้นจึงยกกองทัพไปรบกับนครปาและนครเงี้ยว ชนชาติอ้ายลาวจึงได้อพยพลงมาอยู่ทางใต้ของเมืองเสฉวน ตลอดลงมาถึงเมืองกุยจิว กวางตุ้ง กวางใส และเมืองยูนานเป็นจำนวนมาก ซึ่งในขณะเวลานั้นชาติจีนเรียกพวกอ้ายลาวว่า ไต โดยที่มีคนเผ่าภูไทก็รวมอยู่ในอ้ายลาวและถูกเรียกว่าคนไตเช่นเดียวกัน การรบกับกองทัพจีนที่มีกองทัพแข็งแกร่งในครั้งนี้นั้น ชนชาติอ้ายลาวก็ยังคงรักษาเอกราชเมืองปาและเมืองเงี้ยวเอาไว้ได้ ชนชาติลาวจึงยังคงอาศัยอยู่ที่เมืองปาและเมืองเงี้ยวต่อไป
จนกระทั่ง ลุสู่ประมาณปี พ.ศ. ๒๐๕ หรือก่อน ค.ศ. ๓๓๘ กองทัพจีนได้ยกกองทัพมารบกับนครปาอีกครั้ง การรบครั้งนี้ชาติอ้ายลาวแห่งนครปาสู้กองทัพอันแข็งแกร่งของชาติจีนไม่ได้ จึงจำต้องถอยล่นลงมารวมกับกลุ่มอ้ายลาวที่ได้ลงมาสู่นครเงี้ยวก่อนหน้านี้แล้ว
ในปี พ.ศ. ๒๙๗ หรือก่อน ค.ศ.๒๔๖ ตรงกับรัชสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ของจีน ซึ่งเป็นฮ่องเต้ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของจีนซึ่งได้สร้างเริ่มสร้างกำแพงเมืองจีน(กำแพงเมืองจีนสร้างต่อมาอีกหลายสมัย)อันเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก กองทัพของจีนได้ยกไปตีนครเงี้ยวของอ้ายลาวหลายครั้ง แต่ไม่สามารถจะตีนครเงี้ยวของอ้ายลาวให้แตกลงได้ แต่การรบก็ยังคงติดพันกันถึงกระทั่งถึง พ.ศ. ๓๒๘ หรือก่อน ค.ศ.๒๑๕ นครเงี้ยวจึงได้แตกและเสียเมืองให้แก่จีนในที่สุด ซึ่งจีนใช้ทั้งวิธีรุกเงียบ และรุกรานแบบเปิดเผยด้วยแสนยานุภาพที่แข็งแกร่ง
หลังจากเสียนครเงี้ยวให้กับจีนแล้ว อ้ายลาวจึงได้อพยพอีกครั้งใหญ่ โดยได้พากันอพยพลงมาทางใต้ การอพยพในครั้งนี้ ได้แยกย้ายกันไปหลายทิศหลายทาง เพื่อหาถิ่นอยู่ใหม่ มีทั้งกลุ่มที่ได้เข้ามาในแถบลุ่มแม่น้ำสาละวิน ลุ่มแม่น้ำอิรวดี บางกลุ่มก็ไปถึงแคว้นอัสสัม(ในประเทศอินเดียปัจจุบัน) บางกลุ่มไปยังแคว้นตังเกี๋ย ซึ่งเรียกว่ากลุ่มนี้ว่า “ไทยแกว” บางกลุ่มก็เข้าไปอยู่ที่แคว้นฮุนหนำ ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก ในที่สุดได้ตั้งอาณาจักรขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๔๐๐ เรียกว่า “อาณาจักรเพงาย” (อาณาจักรเพงายอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๔๐๐ – ๖๒๑) มีขุนเมือง(ขุนเม้า)เป็นกษัตริย์ หรือเรียกว่าพระเจ้าขุนเมือง
สมัยของพระเจ้าขุนเมือง(ขุนเม้า) แห่งอาณาจักรเพงาย ได้เกิดการรบกับอาณาจักรจีนหลายต่อหลายครั้ง ผลคือผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเรื่อยมา โดยสาเหตุที่อาณาจักรเพงายต้องรบกับอาณาจักรจีนเนื่องจาก พระเจ้าวู่ตี้ของอาณาจักรจีน ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้แต่งทูตไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย แต่เส้นทางที่จะเดินไปประเทศอินเดียนั้นคณะทูตจีนต้องผ่านเข้ามาในดินแดนอาณาจักรเพงาย พระเจ้าขุนเมืองไม่ไว้ใจจึงขัดขวาง ไม่ยอมให้คณะทูตจีนผ่าน ทำให้พระเจ้าวู่ตี้ของอาณาจักรจีนขัดเคืองใจต่ออาณาจักรเพงาย จึงส่งกองทัพมารบ ใน พ.ศ. ๔๕๖ อาณาจักรเพงายจึงพ่ายแพ้แก่อาณาจักรจีน
ต่อมาในปี พ.ศ.๕๕๒ หรือ ค.ศ.๙ อาณาจักรจีนเกิดความวุ่นวาย ขุนวังเมืองกษัตริย์ผู้สืบสกุลอาณาจักรเพงาย เห็นเป็นโอกาสดี จึงได้แข็งเมืองประกาศอิสรภาพไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรจีนอีกต่อไป และได้ครองเมืองเป็นเอกราชต่อมาถึงปี พ.ศ.๕๙๓ หรือ ค.ศ.๕๐ จีนได้เข้ารุกรานและอาณาจักรเพงายของอ้ายลาวจึงได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอีกครั้ง ในระหว่างนี้อ้ายลาวได้แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ ๑. กลุ่มที่อยู่นครเพงาย เรียกตนเองว่า “อ้ายลาว” และ ๒. กลุ่มที่อพยพหนีลงมาทางใต้เรื่อยๆ เรียกตนเองว่า “งายลาว”
ในปี พ.ศ.๖๐๐ เศษ หรือ ค.ศ.๕๗ พระเจ้ามิ่งตี้ฮ่องเต้ พระเจ้าแผ่นดินอาณาจักรจีนมีความเลื่อมใสศรัทธาและได้นำเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศจีน พระเจ้ามิ่งตี้ของจีนได้วางแผนการขยายอาณาจักร โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ ได้ส่งสมณะทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังประเทศใกล้เคียง ในปี พ.ศ.๖๑๒ ในสมัยพระเจ้าแผ่นดินของอ้ายลาวคือ ขุนหลวงลี้เมาอยู่นครงายลาว ได้นับถือพระพุทธศาสนาแต่เป็นฝ่ายลัทธิมหายาน ถึงปี พ.ศ.๖๒๑ หรือ ค.ศ.๗๘ ขุนไลลาด ราชโอรสได้ครองเมืองแทน เวลานั้นอาณาจักรจีนถือว่า นครงายลาวเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรจีนแล้ว จึงได้ส่งขุนนางมากำกับดูแลขุนไลลาด แต่ขุนไลลาดไม่ยอม กองทัพของอาณาจักรจีนจึงยกกองทัพมาตีนครงายลาว อ้ายลาวจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรจีน
ดังนั้น จีนได้บังคับให้อ้ายลาวเสียส่วย คือ ชายหนุ่มคนหนึ่งให้เสียส่วย เสื้อสองตัวกับเกลือห่อหนึ่ง นับตั้งแต่นั้นมา กลุ่มอ้ายลาวจึงพากันอพยพลงมาทางใต้เรื่อยๆ และในที่สุดได้มาตั้งหลักฐานบ้านเรือนอยู่รอบๆ หนองแสหรือ หนองกะแสแสนย่าน(ปัจจุบันจีนเรียกว่าตาลิฟู) อยู่ในเขตแขวงมณฑลยูนานของจีนทุกวันนี้
ในช่วงเวลานี้นั้น อาณาจักรจีนได้เกิดแตกแยกกันออกเป็นสามพวก หรือสามก๊ก ได้แก่ ก๊กโจโฉ ก๊กเล่าปี่ ก๊กซุนกวน จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของอ้ายลาว อาศัยช่วงที่อาณาจักรจีนแตกแยกต่อสู้กันเอง อ้ายลาวจึงได้โอกาสตั้งตัวและสร้างเมืองใหญ่ขึ้นได้รวม ๖ เมือง อันได้แก่ ๑. เมืองสุย (เมืองมงชุ่ย) ๒. เมืองเอ้ยเช้ (เมืองเอ้ยเช้) ๓. เมืองล้านกุง (เมืองล้างกง) ๔. เมืองท่งช้าง (เมืองเท้งเชี้ยง) ๕. เมืองเชียงล้าน (เมืองชีล้าง) ๖. เมืองหนองแสน (เมืองม้งเส)
เมืองทั้ง ๖ เมืองนี้ มีเมืองหนองแส เป็นเมืองใหญ่และเป็นเมืองหลวงของประเทศ จึงเรียกนามของประเทศในเวลานั้นว่า อาณาจักรหนองแส หรืออาณาจักรน่านเจ้า อ้ายลาวได้ตั้งตัวเป็นเอกราช ปกครองบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองต่อมากว่า ๑๐๐ ปี
จนกระทั่ง ลุถึงปี พ.ศ.๗๖๘ หรือ ค.ศ.๒๒๕ ขงเบ้ง แม่ทัพคนสำคัญของก๊กเล่าปี่ ได้ยกกองทัพมาตีอาณาจักรหนองแส หรืออาณาจักรน่านเจ้าอยู่หลายปี ในที่สุดอ้ายลาวรบสู้ขงเบ้งผู้เป็นแม่ทัพของเล่าปีไม่ได้ จึงต้องยอมเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรจีนอีกครั้ง
อ้ายลาวถูกชาติจีนเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงอยู่เสมอ จึงเป็นเหตุให้อ้ายลาวบางส่วนต้องอพยพลงมาทางใต้เรื่อยๆ จนถึง พ.ศ.๙๓๘ หรือ ค.ศ.๓๙๕ อ้ายลาวทั้ง ๖ เมืองเดิมได้ตั้งตัวเป็นอิสระอีกครั้งและปกครองกันเอง
ต่อมา ในปี พ.ศ.๑๑๙๒ หรือ ค.ศ.๖๔๙ กษัตริย์เมืองหนองแสองค์หนึ่ง พระนามว่า สีหะนะวะ หรือ สีนุโล (จีนเรียก ชิวโน้วหล้อ) ได้รวบรวมเมืองทั้ง ๖ เป็นอาณาหนองแส หรือน่านเจ้าอีกครั้ง(ปัจจุบันอยู่แถบเชียงรุ้ง) ในยุค ๖ หัวเมืองนี้ในประวัติศาสตร์ของไทยใหญ่เรียกว่า “ไตหกเมืองเครือใหญ่” ซึ่งอาณาจักรน่านเจ้านี้จีนเรียกว่า “หนานเจา” โดยเพี้ยนไปจาก “หนองแส”
เกี่ยวกับอาณาจักรหนองแสนี้ นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศได้ศึกษาและลงความเห็นว่า อาณาจักรน่านเจ้าประกอบไปด้วยชนชาติหลายชนชาติ อันได้แก่ ชนชาติไต ชนชาติหลอหล่อ ชนชาตินาคา ชนชาติที่เป็นผู้ปกครองนั้นอาจผลัดเปลี่ยนกันไปหลายครั้งระหว่างชนชาติที่ก้าวหน้ากว่าชนชาติอื่น เช่น ชนชาติไต เคยเป็นพลเมืองที่สำคัญและเป็นชนชั้นปกครองแต่ไตมีเชื้อชาติไต สัญชาติน่านเจ้า ซึ่งน่านเจ้าไม่ใช่อาณาจักรของไต เพียงแต่เคยมีพลเมืองไตเป็นพลเมืองสำคัญของน่านเจ้า
ในพงศาวดารราชวงศ์ถัง ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๖๐-๑๔๕๐ บันทึกเรื่องน่านเจ้าว่า ชื่อน่านเจ้า เป็นภาษาพื้นเมือง “เจ้า” หมายถึง ประมุขของรัฐ อาณาจักรน่านเจ้าประกอบด้วย ๖ หัวเมือง แต่ละหัวเมืองมีผู้ปกครองหัวเมืองเรียกว่าเจ้า และอยู่ทางตอนใต้ของอาณาจักรจีน ซึ่งคำว่าใต้จีนเรียกว่า น่านหรือหนาน ศูนย์กลางของอาณาจักรน่านเจ้าตามพงศาวดารราชวงศ์ถังระบุว่าอยู่ใต้ทะเลสาบเอ๋อห่าย ชื่อเมืองนี้จีนเขียนว่า เหมิงเส้อ หรือเหมิงเส้อโหลง คำว่าหนองแสได้ชื่อมาจากทะเลสาบเอ๋อห่าย ซึ่งไทยใหญ่และไตลื้อเรียกว่าหนองแส (พ.ศ. ๑๒๘๕ อาณาจักรน่าเจ้าเปลี่ยนชื่อเป็น ไต้เหมิงหรือต้าเหมิง เนื่องจากเจ้าของตระกูลนี้เป็นชนชาติตระกูลเหมิงและเป็นชนชาติในตระกูลอ้ายลาว)
หลังจากรวบรวมเมืองทั้ง ๖ เป็นอาณาหนองแสครั้งใหม่ดังกล่าวแล้ว อาณาจักรหนองแสหรือน่านเจ้าจึงมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งใหญ่และขยายอาณาเขตกว้างขวางยิ่งขึ้น พระเจ้าแผ่นดินนครหนองแส ได้ส่งราชทูตไปเจริญ สัมพันธไมตรีกับพระเจ้าเกาจงฮ่องเต้ พระเจ้าแผ่นดินอาณาจักรจีน ก็ทรงต้อนรับเป็นอย่างดีและเสมือนเป็นการรองรับสถานะของอาณาจักรหนองแส
ในปี พ.ศ.๑๒๒๘ หรือ ค.ศ.๖๘๕ พระเจ้าโลเช้ง ราชโอรสเมืองหนองแสได้ขึ้นเสวยราชพระองค์ก็ได้เจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรจีนเรื่อยมา ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๒๓๓ หรือ ค.ศ.๖๙๐ พระเจ้าโลเช้ง ได้เสด็จไปประเทศจีนในงานราชาภิเษกพระนางบูเช็กเทียน ต่อมา หลังจากพระเจ้าโลเช้งสิ้นพระชนม์ได้มีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีกสามพระองค์
จึงกระทั่งถึง พ.ศ.๑๒๗๒ หรือ ค.ศ.๗๒๙ พระเจ้าพิล้อโก้หรือขุนบรมราชาธิราช ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์อาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า เมื่อพระชนม์ได้ ๓๒ ปี ในเวลาต่อมา กล่าวกันว่าพระเจ้าพิล้อโก้หรือขุนบรมราชาธิราช เป็นกษัตริย์ผู้มีความกล้าหาญทรงชำนาญในการสงครามเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงแผ่ขยายอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า ให้กว้างขวางมากที่สุด เมื่อพระเจ้าพิล้อโก้หรือขุนบรมราชาธิราชได้ขึ้นเสวยราชสมบัตินั้น พระองค์ได้ส่งราชทูตไปเจริญ สัมพันธไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินจีน คือ หงวนจงเพ้งฮ่องเต้ ทรงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ซึ่งจีนเรียกนามพระองค์ว่า น่านเจ้าอ๋อง หรือในความหมายของจีนคือเจ้าเมืองที่อยู่ทางใต้ ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของคนภูไทและคนลาวที่นับถือขุนบรมเป็นต้นตระกูล ว่าสืบเชื้อสายมาจากขุนบรม
ขณะที่ขุนบรมราชาธิราช ประทับอยู่ที่เมืองหนองแสนั้น พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า อาณาจักรจีนก็มีกำลังเข้มแข็งและเคยยกกองทัพมาตีเมืองของอ้ายลาวหรือเมืองหนองแสในอดีตอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าขุนบรมราชาธิราช จะได้เจริญสัมพันธไมตรีไว้แล้วก็ยังไม่อาจจะเชื่อใจได้ว่าอาณาจักรจีนจะไม่ยกกองทัพมาโจมตีอีกครั้ง
ในปี พ.ศ.๑๒๒๗ หรือค.ศ.๗๓๑ ขุนบรมราชาธิราช ได้ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่ทุ่งนาน้อยอ้อยหนู (หรือน้ำน้อยอ้อยหนู) หลังจากสร้างเมืองเสร็จแล้ว ได้ตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า “เมืองแถน” หรือเมือง “กาหลง” ขุนบรมราชาธิราช ทรงประทับอยู่ที่ เมืองแถนหรือเมืองกาหลง ถึง ๘ ปี แม้จะสร้างเมืองแถนขึ้นแล้ว คล้ายกับว่าจะถอยห่างออกจากอาณาจักรจีนไปเรื่อยๆ ทว่าว่าในระหว่างที่ทรงประทับอยู่เมืองแถนนั้นขุนบรมราชาธิราช ได้ยกกองทัพขึ้นไปตีเอาหัวเมืองของอาณาจักรจีนที่อยู่ใกล้เขตแดนของธิเบตได้หลายเมือง แล้วขุนบรมราชาธิราชได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกในดินแดนที่ตีเมืองได้ เรียกว่า “เมืองตาห้อ” หรือ “หอแต” เมืองนี้อยู่ห่างจากเมืองหนองแสไปทางเหนือ ๔๐ ลี้ (๑ลี้ เท่ากับ ๕๐๐เมตร) แล้วขุนบรมราชาธิราชก็เสด็จไปประทับที่เมืองตาห้อนี้
ลุถึงปี พ.ศ.๑๒๘๓ หรือ ค.ศ.๗๔๐ ขุนบรมราชาธิราช มีพระโอรสประสูติจาก พระนางยมพาลา เอกอัครมเหสี และพระนางเอ็ดแคง เทวีฝ่ายซ้าย รวมพระโอรส จำนวน ๗ พระองค์ ปรากฏในหนังสือล้านช้างว่า เมื่อพระราชโอรสของขุนบรมราชาธิราชโตขึ้นได้ไปครองเมืองต่างๆ ๗ เมืองได้แก่
๑. ขุนลอ ครองเมืองล้านช้าง
๒. ท้าวผาล้าน ครองเมืองตาห้อ หรือ หอแต
๓. ท้าวเจือง ครองเมืองปะกัน เชียงขวาง
๔. ท้าวกม ครองเมืองหล้าคำม่วน
๕. ท้าวอิน ครองเมืองล้านเพีย คือ อยุธยา
๖. ท้าวคำผง ครองเมืองโยนก คือ ลานนา
๗. ท้าวจูสง ครองเมืองจุลนี คือ เมืองแกว
ต่อมา ถึงปี พ.ศ.๑๒๘๖ หรือ ค.ศ.๗๔๓ ขุนบรมราชาธิราช ได้ทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางราชไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินจีน ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าเฮี้ยนจงอิดฮ่องเต้ จากนั้นขุนบรมราชาธิราช ได้เสด็จกลับมาเสวยราชสมบัติอยู่นครหนองแส ลุถึงปี พ.ศ.๑๒๙๒ หรือค.ศ.๗๔๙ ขุนบรมราชาธิราชก็เสด็จสวรรคต รวมพระชนม์ได้ ๕๓ ปี
พงศาวดารจีนที่มีชื่อว่า "ยี่จับสี่ซื้อ" กล่าวว่า เมื่อขุนบรมราชาธิราช เสด็จสวรรคตแล้ว พระโอรสนามว่า โก้ะล้อผง หรือขุนลอ ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองแถน ได้เสด็จกลับนครหนองแสงหรือน่านเจ้า แล้วขึ้นครองราชย์สมบัติอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้าแทนพระบิดา หลังจากขึ้นครองราชย์สมบัติ ได้แต่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรจีนเช่นเดียวกับที่พระบิดาเคยปฏิบัติมา
ในเวลาต่อมา ขุนลอ ได้เสด็จไปประพาสทางเขตแดนจีนถึงเมืองฮุนหนำ ข้าราชการจีนผู้รักษาเมืองไม่ทำความเคารพ จึงทำให้ขุนลอมีความขัดเคืองพระทัยมาก หลังจากกลับเมืองแล้ว ขุนลอได้ยกกองทัพไปตีเขตแดนของอาณาจักรจีน ตีได้หัวเมืองต่างๆในแขวงฮุนหนำของอาณาจักรจีนถึง ๓๒ เมือง จากนั้นขุนลอทรงประทับอยู่เมืองฮุนหนำถึง พ.ศ.๑๒๙๔ หรือค.ศ.๗๕๑ พระเจ้าแผ่นดินอาณาจักรจีนยกกองทัพหลวงมาเพื่อจะตีเอาเมืองฮุนหนำคืน ขุนลอ จึงแต่งทูตไปหาแม่ทัพจีนขอเป็นไมตรีและจะส่งเมืองคืนให้หลายเมือง แม่ทัพจีนไม่ยอมจับราชทูตไปขังเอาไว้ จากนั้นยกกองทัพเข้าตีฮุนหนำ ด้วยพระปรีชาสามารถของขุนลอได้รบกับกองทัพของอาณาจักรจีนจนแตกไป แต่แม้ว่ากองทัพของอาณาจักรจีนจะแตกกลับไปแล้ว แต่ขุนลอก็ยังไม่ไว้วางใจ เห็นว่าอาณาจักรจีนจะต้องยกกองทัพมารบอีกเป็นแน่แท้ ขุนลอจึงได้ทำไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินทิเบต
ในปี พ.ศ.๑๒๙๗ หรือ ค.ศ.๗๕๔ กองทัพอาณาจักรจีนยกกองทัพมาตีเมืองฮุนหนำอีกครั้งหนึ่ง แต่ขุนลอซึ่งเก่งทั้งการรบและกลศึก ขุนลอได้สร้างกลศึกหลอกกองทัพอาณาจักรจีนเข้าไปถึงเมืองตาห้อ หรือหอแต แล้วแต่งกองทัพมาสกัด ด่านไว้ กองทัพอาณาจักรจีนขาดเสบียงอาหารและเกิดโรคอหิวาตกโรคขึ้นในกองทัพ จึงพากันถอยหนี เมื่อเห็นได้ที ขุนลอจึงนำทหารตามตีฆ่าฟันทหารในกองทัพของอาณาจักรจีนบาดเจ็บล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ราชอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า มีความเจริญรุ่งเรืองและกว้างใหญ่ไพศาลมาตั้งแต่สมัยของ พระเจ้าสินุโล มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาถึง ๑๓ องค์ รวมระยะเวลานานถึง ๒๕๕ ปี
ในกาลต่อมา ราชอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า ก็มีราชวงค์ที่มีเชื้อสายปะปนกับชาวจีนปกครองบ้านเมือง ได้มีการหลอมรวมเปลี่ยนแปลงทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน
ในปี พ.ศ.๑๗๙๗ หรือค.ศ.๑๒๔๔ ราชวงค์หงวนตี้ ซึ่งเป็นชาวมองโกลได้เป็นผู้ปกครองอาณาจักรจีนทั้งหมด และแผ่ขยายอำนาจและอาณาเขตลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ แล้วได้เข้าตีราชอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า จนพินาศลง ราชอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้าจึงตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรจีน จึงทำให้มีกลุ่มชนชาติที่รักสงบ รักความเป็นอิสระ ได้พากันอพยพลูกหลานลงมาทางใต้เรื่อยๆ ชนชาติภูไท หรือผู้ไทย เป็นกลุ่มชนชาติหนึ่งที่อพยพลงมาในครั้งนั้นด้วย และได้ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่หลายเมือง แต่ทุกเมืองที่คนเผ่าภูไทอาศัยอยู่ก็ยังคงอนุรักษ์ สืบทอดขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมอันดีงามไว้อย่างเหนียวแน่น
พระยาแถนหรือขุนบรมราชาธิราช บรรพบุรุษของชนชาติภูไทหรือผู้ไทย คนภูไท หรือ ผู้ไทย มีกำเนิดความเป็นมาอย่างไรไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน
แต่สำหรับในตำนานของขุนบรมนั้นได้กล่าวไว้ว่า ผู้คนสมัยโบราณโหดร้ายมาก ดังนั้นเทพองค์หนึ่งจึงได้ลงทัณฑ์คนกลุ่มนั้นโดยทำให้โลกน้ำท่วม ต่อมา เทพก็ได้ส่งผู้นำจากสวรรค์ ๓ ท่านพร้อมกับกระบือเป็นพาหนะ ผู้นำสามท่านนี้จะได้เป็นเจ้าแห่งคนกลุ่มใหม่บนโลก ในที่สุดผู้นำสามท่านกับกระบือตัวนั้นก็ได้มาเหยียบแผ่นดินโลกในเมืองแถน ในเวลาต่อมา เมื่อแผ่นดินนั้นกลายเป็นนาสำหรับปลูกข้าว กระบือตัวนั้นก็ตายและมีบวบด้วยกิ่งก้านสาขาออกมาจากรูจมูกของศพ จากตัวบวบไปถึงกิ่งก้านนั้นเผ่ามนุษย์ก็เกิดขึ้นมา ซึ่งเผ่าที่มีผิวคล้ำออกมาจากบริเวณนั้นด้วยอาวุธแหลม และอีกเผ่าหนึ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันด้วยการขุด
บรรดาทวยเทพต่างๆ ได้สอนกลุ่มคนไทสร้างบ้านและสอนเรื่องเก็บเกี่ยวข้าว รวมทั้งได้รับการอบรมและคำสอนวิธีการประพฤติตัวและพิธีกรรมต่างๆ จากนั้นกลุ่มชาวไทก็ได้ขยายใหญ่ขึ้นเป็นชุมชน จึงต้องการผู้ปกครองที่จะทำให้กลุ่มไทนี้อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน เทพใหญ่จึงส่งพระโอรสของพระองค์เองมีนามว่าขุนบรมมาบนโลก เพื่อที่จะเป็นผู้นำของกลุ่มไทนี้ ขุนบรมได้ปกครองกลุ่มไทนี้มา ๒๕ ปี โดยสอนการใช้เครื่องมือใหม่ๆ และแนะนำศิลปะใหม่ๆ หลังจาก ๒๕ ปีนี้ ขุนบรมทรงได้แบ่งอาณาจักรไท โดยให้พระโอรสของพระองค์ทั้ง ๗ ท่านครองแต่ละส่วนของอาณาจักร พระโอรสที่มีอายุสูงสุดคือ ขุนลอ ได้ปกครองเมืองชวา โดยในปัจจุบันนี้คือหลวงพระบาง และพระโอรสที่เหลือได้ปกครอง เมืองเชียงขวาง เมืองอยุธยา เมืองเชียงใหม่ เมืองสิบสองปันนา เมืองหงสาวดี และอีกเมืองหนึ่งที่ไม่มีใครรู้แน่นอนแต่สันนิษฐานว่าเป็นบริเวณภาคเหนือของประเทศเวียดนามปัจจุบัน (จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
ส่วนในประวัติศาสตร์ชาติลาว มีการบันทึกไว้ว่า ในปี พ.ศ.๑๒๒๗ หรือ ค.ศ.๖๘๔ ขุนบรมราชาธิราช เป็นกษัตริย์นักรบผู้กล้าหาญของอาณาจักรหนองแสหรือน่านเจ้า เป็นผู้สร้างเมืองแถน ขึ้นที่ ทุ่งนาน้อยอ้อยหนู ชาวเมืองเรียกพระนามว่า พระยาแถน สำหรับในพงศาวดารล้านช้าง และพงศาวดารเมืองหลวงพระบาง บันทึกไว้โดยสรุปดังนี้
เมื่อครั้งโบราณ แผ่นดินเมืองแถนเป็นดินเป็นหญ้า มีฟ้าเป็นแถน (หรือเทวดาหรือผี) ซึ่งทั้งเทวดาและคนสามารถไปมาหาสูกันได้ (ในนิทานบางเรื่องกล่าวไว้ว่าสมัยโบราณนั้นฟ้ากับดินอยู่ไม่ห่างกันมา จนกระทั่งมนุษย์ทำผิดบาป ฟ้าจึงห่างจากดิน มนุษย์ไม่สามารถไปมาหาสู่กับเทวดาได้อีกเลย) ผู้คนสร้างบ้านเรือนอยู่ในบริเวณเมืองลุ่ม ทำนา และกินข้าวเป็นอาหาร แต่มีกฎอยู่ว่า เวลากินข้าวให้บอกหรือให้ทำเครื่องหมายไว้ กินข้าวบ่ายกินข้าวเย็นก็ต้องบอกกล่าวแก่แถนหรือเทวดา หากได้กินเนื้อ(อาจจะล้มวัวล้มควายเป็นอาหารหรือล่าสัตว์ป่าก็ตาม)ให้ส่งขาเนื้อนั้นให้แถน ได้กินปลาก็ต้องส่งปลานั้นโดยการนำปลาบางส่วนนั้นร้อยเชือก(ทำเป็นพวง)หลายๆตัวส่งให้กับแถน เป็นเครื่องแสดงว่ากินอะไรก็ต้องกินด้วยกัน ได้อะไรมาหรือกินอะไรก็ต้องส่งให้แถนกินด้วยหรือรับรู้ด้วย
ในสมัยต่อมาคนได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มคนที่มีกำลังมาก มีอำนาจมาก กลุ่มนี้จะเป็นหัวหน้า และกลุ่มคนที่มีกำลังน้อย กลุ่มนี้จะเป็นชาวบ้าน มีหน้าที่คอยปฏิบัติตามคำสั่งของคนที่มีอำนาจหรือผู้ปกครอง มีเรื่องเล่าขานกันว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัย หรืออัคคีภัย หรือวาตภัยจากธรรมชาติต่างๆ เกิดขึ้น ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตทางใจจึงพากันคิดว่า พระยาแถน โกรธ มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดอุทกภัยขึ้นชาวบ้านได้หนีตายขึ้นไปอยู่ในที่สูงหรือเมืองบน พระยาแถนก็รับไว้ แต่พออยู่ไปนานๆ ก็ไม่สามารถจะอยู่ได้ พระยาแถน จึงได้พาลงไปส่งให้อยู่ที่หนึ่ง พร้อมกันนั้นก็ให้ควายเขาลู่แก่ชาวบ้านกลุ่มนั้น เพื่อให้ทำไร่ไถนากันต่อไป บริเวณที่ไปอยู่นั้นเรียกว่า "นาน้อย อ้อยหนู"
ในสมัยต่อๆ มามีผู้มีบุญมาเกิด คือ ขุนบรมราชาธิราช ซึ่งได้สร้างเมืองแถนขึ้นที่ ทุ่งนาน้อย อ้อยหนู จึงได้ชักชวนแนะนำชาวบ้านให้รู้จักวิธีการทำไร่ไถนา ปลูกผักปลูกหญ้า ปลูกผลหมากรากไม้ หัวมันต่างๆ จึงเกิดมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ผู้คนและบ้านเมืองค่อยพัฒนาขึ้น และเกิดมีคติวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ดนตรี ศิลปะ ศาสนา ความเชื่อถือในเรื่องวิญญาณผีปู่ ผีย่า ผีปู่ทวด ตาทวด และมีการกราบไหว้บูชาวิญญาณบรรพบุรุษของคนภูไทจนถึงปัจจุบัน
ขุนบรมราชาธิราช ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองแถน มีมเหสี ๒ องค์คือ พระนางแอกแดง (เอคแคง) มีโอรส ๔ องค์ และพระนางยมพาลา มีโอรส ๓ องค์ รวม ๗ องค์ เมื่อพระโอรส เติบโตขึ้น ขุนบรมได้ให้ไปสร้างเมืองต่างๆ พร้อมกับได้มอบทรัพย์สมบัติ แก้ว แหวน ต่างๆให้กับพระโอรส ดังนี้ คือ
๑. ขุนลอ ไปสร้างเมืองชวา คือ กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว หลวงพระบาง สมบัติที่มอบให้ประกอบด้วย ฆ้องราง ง้าวตาว แม่วี แหวนธำมรงค์ เลื่อมแสงใส มณีโชติ
๒. ยีผาล้าน ไปสร้างเมืองหอแต สมบัติที่มอบให้ประกอบด้วย หอกมงคลคันคำ หน่วย ปัทมราช โชติแสงสิงตะวัน
๓. สามจูสง ไปสร้างเมืองแกวช่องบัว สมบัติที่มอบให้ประกอบด้วย เกิบเงิน ดาบฝักคำ หน่วยมุกตั้ง เลื่อมผิวเงินเลียงล่องนาคราช
๔. ไสผง ไปสร้างเมืองยวนโยนก เมืองลานนา หงสาวดี สมบัติที่มอบให้ประกอบด้วย หน้าซองคำ แล่งชายคำ หน่วยเพชร เชิดตั้งแย้งแผ่นบาดาล
๕. งัวอิน ไปสร้างเมืองชาวใต้ คือ อโยธยา สมบัติที่มอบให้ประกอบด้วย ง้าวปากไชย ดาบมาศ หมากนิลเลื่อม ผ่านส่องแสง
๖. ลกกลม ไปสร้างเมืองเชียงคม คือ อินทปัต(เขมร) สมบัติที่มอบให้ประกอบด้วย ดาบเหล็กพวนฝักถักหวาย อัมพา ผ่องผายงาม ปัดตลอดลิงลำไว้ห้า
๗. เจ็ดเจิง ไปสร้างเมืองพวน(เชียงขวาง) สมบัติที่มอบให้ประกอบด้วย ตาวรางกวน หน่วยปัดคำแสง เลื่อมลายหลากแก้ว
แต่การที่จะให้พระโอรสต่างๆไปสร้างเมืองนั้น ขุนบรมราชาธิราช ได้ทรงให้โอวาทและแนะนำพร่ำสอนและย้ำเตือนพระโอรสทั้ง ๗ องค์ พอสรุปได้ดังนี้คือ
ถ้าพระโอรสองค์ไหนสร้างบ้านเมืองจนมีบุญญานุภาพมากแล้วนั้น ให้เป็นผู้มีความยุติธรรม ไม่ให้รบกัน ถ้าโอรสองค์ไหนตั้งอยู่ในความยุติธรรมให้โอรสองค์นั้นมีความเจริญยิ่งขึ้นไป แต่หากพระโอรสองค์ใดมีความโลภ รบเอาเมืองของกันและกันให้โอรสองค์นั้นมีอันเป็นไปต่างๆนานา เช่น ทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยมีสำนวนที่ผู้เป็นกลอนบางส่วนว่า
“...ปลูกไม้อย่าทันตาย ปลูกหวาย อย่าทันล่อน ข้อม่อนอย่าให้รี ปีมันอย่าให้กว้าง เทียวทางให้ฟ้าผ่า เมือป่าให้เสือกิน ไปทางน้ำให้เงือกท่อเรือฉก ไปทางบกให้เสือท่อม้ากินมัน เมืองอ้ายไว้แก่อ้าย เมืองน้องไว้แก่น้อง อย่าทำร้ายเบียดเบียนกัน...”
เหมือนกับเป็นการแช่งไว้ เพื่อที่จะให้ลูกหลานสืบไปภายหน้าได้อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่รบราฆ่าฟันกัน
ในตำนานต่างๆ ดังกล่าวนี้ จึงเห็นได้ว่า คนเผ่าภูไท คนเผ่าลาว คนเผ่าสยาม และอีกหลายชนเผ่า รวมทั้งจีน เวียดนาม พม่า เป็นต้น ล้วนแล้วแต่อยู่ร่วมกันมาในอดีต ได้มีการหล่อหลอมขนบธรรมเนียมประเพณี คติความเชื่อต่างๆมาด้วยกันและก็ผสมกลมกลืนทางชาติพันธุ์กันมา จึงกล่าวได้ว่าชาติพันธุ์ในดินแดนแถบนี้ล้วนแต่มีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน แม้ว่าจะแต่เละผ่าพันธุ์กันก็ตาม จึงอาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ล้วนแล้วแต่เป็นพี่น้องกัน มาจากรากเหง้าอันเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น